เมื่อ : 30 ม.ค. 2566
ออราเคิล ชี้บริการประมวลผลบนคลาวด์ระบบเดียว ไม่สามารถตอบโจทย์โลกทั้งใบในวันนี้ เปิด 6 คำทำนายธุรกิจคลาวด์เมื่อโลกก้าวสู่ยุคไอทีเต็มรูปแบบ ซีอีโอ ออราเคิล ประเทศไทย ร่วมไขทางออกสำหรับกลุ่มผู้ให้บริการคลาวด์ในปัจจุบัน

กรุงเทพฯ 30 มกราคม 2566 – กระแสการใช้คลาวด์ที่แพร่หลายไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วในวันนี้ แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ องค์กรทุกประเภทต่างตระหนักแล้วว่าไม่มีผู้ให้บริการคลาวด์ “สำเร็จรูป” รายใดที่จะสามารถทำงานได้ทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จ เพราะธุรกิจต่าง ๆ ต้องการระบบคลาวด์ที่ดีที่สุดซึ่งเหมาะกับภาระงานหลักของบริษัทที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างถ้าคลาวด์ระบบ A เหมาะที่สุดสำหรับการรันแอปบนเดสก์ท็อป และคลาวด์ระบบ B ทำได้ดีเยี่ยมบนฐานข้อมูลของเซิร์ฟเวอร์ นั่นก็คือต้องเลือกคลาวด์ A และ B ตามรูปแบบงานนั้น

เมื่อเราก้าวเข้าสู่ปี 2023 บริษัทลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการใช้แค่คลาวด์สาธารณะเท่านั้น แต่พวกเขายังต้องการทางเลือกที่เอื้อต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ เพื่อให้สามารถจัดการภาระงานบางอย่างได้บนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ของบริษัทตัวเอง

หนึ่งในคำทำนายอย่างง่าย ๆ ก็คือธุรกิจบริการประมวลผลบนคลาวด์ (Cloud Computing) ที่มีขนาดใหญ่ในปัจจุบันจะมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลเดือนเมษายนของ Gartner ประเมินว่าค่าใช้จ่ายสำหรับบริการคลาวด์สาธารณะของไทยในปี 2023 จะสูงขึ้น 31.8% โดยสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 20.7%

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันนี้คือลูกค้าต้องการทางเลือกอื่น ๆ (และจะได้รับในไม่ช้า) โดยตัวลูกค้าซึ่งแม้จะไม่ใช่ผู้ให้บริการ แต่ก็จะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนและบริหารจัดการระบบคลาวด์ได้ด้วยตัวเอง

รายละเอียดและสาระสำคัญของคำทำนายทั้ง 6 มีดังนี้
 

  1. ระบบมัลติคลาวด์จะถูกใช้งานเป็นเรื่องปกติ

    บริษัทต่าง ๆ จะใช้ระบบคลาวด์สาธารณะที่เหมาะสมภาระงานหลักของตนเองมากที่สุด และการใช้งานจะเพิ่มสูงขึ้นตลอดทศวรรษข้างหน้า

    แม้แต่อุตสาหกรรมที่อยู่มาอย่างยาวนานซึ่งมักหลีกเลี่ยงความเสี่ยง อาทิ บริการทางการเงิน ก็ยังนำคลาวด์มาใช้มากกว่าหนึ่งระบบ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ทุกแห่งในวันนี้ล้วนใช้คลาวด์มากกว่าหนึ่งระบบสำหรับการรันแอปพลิเคชันและโครงสร้างพื้นฐาน และนั่นทำให้ความจำเป็นในการใช้คลาวด์หลายระบบ (มัลติคลาวด์) เพิ่มสูงขึ้น
     

กล่าวโดยสรุป ลูกค้าต้องการให้บรรดาผู้ให้บริการคลาวด์ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อมอบบริการลที่ดีร่วมกันในฐานะผู้ให้บริการมืออาชีพ โดยลูกค้าควรสอบถามข้อมูลกับผู้ให้บริการคลาวด์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันหรือที่คิดจะใช้ในอนาคตให้ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ให้บริการรายนั้นจะช่วยอำนวยความสะดวก ไม่ใช่ปิดกั้นการใช้คลาวด์หลายระบบ
 

2.ภาคธุรกิจต้องการทางเลือกเพื่อการพัฒนา

การใช้งานสิ่งที่ครั้งหนึ่งเราเคยเรียกว่า “ไฮบริด” และเรียกว่าคลาวด์ “แบบกระจายศูนย์ (Distributed)” ในวันนี้ กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก โดยในโมเดลคลาวด์แบบกระจายศูนย์ บริษัทจะจัดการภาระงานบางอย่างบนคลาวด์สาธารณะภายนอกและจัดการระบบในศูนย์ข้อมูลที่ควบคุมโดยบริษัท ซึ่งโดยทั่วไปจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องตามกฎระเบียบ กฎหมาย เหตุผลด้านประสิทธิภาพ หรือด้านอื่น ๆ
 

สาระสำคัญก็คือผู้ให้บริการคลาวด์ต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐบาลในจุดที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่ผลักใสภาระการรันข้อมูลและแอปพลิเคชันทั้งหมดให้ไปตกอยู่บนคลาวด์ระบบเดียวของผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง

3. ทุกคนต้องการอธิปไตยในระบบคลาวด์ที่มั่นคง

ข้อดีของคลาวด์สมัยใหม่คือมีรูปแบบและขนาดที่หลากหลาย เนื่องจากประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ทุกวันนี้ล้วนต้องการคลาวด์ในรูปแบบของตัวเอง หลายประเทศมีกฎระเบียบด้านอธิปไตยของข้อมูลที่กำกับว่าข้อมูลต้องถูกเก็บและประมวลผลภายในประเทศ โดยต้องไม่ถูกส่งไปยังสหรัฐอเมริกาหรือเมืองที่อยู่นอกพรมแดน ทำให้โมเดลการใช้ศูนย์ข้อมูลคลาวด์เชิงเดี่ยวเพื่อให้บริการหลาย ๆ ประเทศในหนึ่งภูมิภาคแบบเดิมกลายเป็นเรื่องล้าหลังไปแล้ว

โพสต์ล่าสุดในบล็อก Forrester Research ได้ระบุถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ให้บริการคลาวด์ในสหภาพยุโรปที่มั่นคงปลอดภัย รวมถึงข้อมูลของรัฐบาลหรือพลเมืองที่คงอยู่ในประเทศและโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ซึ่งดำเนินการโดยพลเมืองของประเทศนั้น โดยผู้ให้บริการระบบคลาวด์ต้องยินยอมแสดงหลักฐานให้เห็นว่าตนปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นและข้อบังคับด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ภาคธุรกิจต้องตระหนักว่าการไม่ปฏิบัติตามกฎอธิปไตยของข้อมูลอาจนำไปสู่การเสียเงินค่าปรับอย่างมหาศาล ซึ่งอาจสูงหลายร้อยล้านดอลลาร์ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความเสียหายต่อแบรนด์ที่ประเมินค่าไม่ได้

ประเทศและท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ต้องเก็บข้อมูลในพื้นที่เฉพาะ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบคลาวด์ที่ตนเลือกใช้สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว แท้จริงแล้วผู้ให้บริการคลาวด์ Gen 1 บางรายก็ยังไม่เคยทำสิ่งใดมากไปกว่าออกข่าวประชาสัมพันธ์แสดงความตั้งใจที่จะให้บริการคลาวด์ที่มั่นคงปลอดภัยเท่านั้นเอง

ปัจจุบัน คลาวด์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยซึ่งใช้เทคโนโลยีของออราเคิล เปิดให้บริการแล้วในบางประเทศ

4. องค์กรต่าง ๆ จะใช้ HCM บนคลาวด์เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนทางธุรกิจ

ทศวรรษที่ 2020 ทำให้เราได้เห็นถึงความซับซ้อนในการบริหารงานบุคคล เมื่อบริษัทต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่จนต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบการทำงานนอกสถานที่และยังประสบกับช่องว่างด้านทักษะจาก “การลาออกครั้งใหญ่” โดยหลายแห่งต้องมีการเลิกจ้างและการปรับสถานะพนักงานเนื่องจากเศรษฐกิจที่ผันผวน ปัจจัยเหล่านี้รวมถึงความจำเป็นในการฝึกอบรมทักษะที่ต้องรวดเร็วขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด ล้วนเป็นความท้าทายที่ระบบการบริหารทุนมนุษย์ (HCM) บนคลาวด์สามารถช่วยชี้นำทิศทางการทำงานของบริษัทได้

การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ทั้งเฮลธ์แคร์ บริการโรงแรมที่พัก ธุรกิจค้าปลีก และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ล้วนต้องว่าจ้าง จัดตารางเวลา บริหารจัดการ และจ่ายเงินให้กับพนักงานพาร์ตไทม์หรือพนักงานสัญญาจ้างจำนวนมาก ซึ่งพนักงานจำนวนมากในภาคธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ แม้ว่าพวกเขาไม่ต้องอยู่ที่โต๊ะทำงานหรือต้องปฏิบัติงานในสถานที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่นพยาบาลซึ่งไม่ต้องนั่งทำงานที่โต๊ะ แต่ก็ต้องเดินไปมาระหว่างห้องตรวจภายในโรงพยาบาล เป็นต้น โดยระบบ HCM บนคลาวด์สมัยใหม่และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องจะช่วยบริหารจัดการและสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานแบบ “ไร้โต๊ะทำงาน” เหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมที่สุ

โดยรวมแล้ว การใช้เทคโนโลยี อาทิ HCM อย่างชาญฉลาด ช่วยให้ธุรกิจสามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการบริหาร จัดการ ช่วยเก็บรักษาพนักงานผู้มีความสามารถให้อยู่กับองค์กร และมอบประโยชน์อีกมากมายในอนาคต

หนึ่งในบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการใช้ HCM คือ‎ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เลือกใช้  Oracle Fusion Cloud Human Capital Management (HCM) เพื่อส่งเสริมการทำงานระบบดิจิทัลด้วยการยกระดับประสบการณ์พนักงานให้ดียิ่งขึ้น และด้วยการสนับสนุนของ Oracle Cloud HCM ทำให้ ธปท. สามารถลดขั้นตอนการทำงานด้วยมนุษย์และช่วยให้ระบบงานดำเนินไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

5.บริษัทจะทำให้การเข้าถึงและการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นประชาธิปไตย

ธุรกิจต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับข้อมูล ทั้งข้อมูลการขายผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่าย สินค้าคงคลัง การผลิต ตลอดจนการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท แต่ข้อมูลที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานก็จะไม่มีประโยชน์ ปัญหาก็คือการทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ดังนั้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เช่น การเรียนรู้ของเครื่อง (ML) จึงถูกติดตั้งอยู่ในระบบขององค์กรเพื่อวางพื้นฐานในการทำให้ข้อมูลเป็นประชาธิปไตย

ในการสนับสนุนเรื่องนี้ บริษัทจำเป็นต้องนำเอา “การวิเคราะห์เสริม (Augmented analytics)” มาใช้เพื่อทำให้ข้อมูลเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับ “คนธรรมดา” อย่างนักธุรกิจ เพราะการเข้าใจในการสร้างและการทดสอบโมเดลธุรกิจต้องไม่จำกัดเฉพาะแค่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญ เหตุผลหนึ่งก็คือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลหาตัวยากและมีค่าแรงสูง อีกเหตุผลก็คือ พวกเขามักมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทน้อยกว่าผู้จัดการในสายงานจริง

หากหัวหน้าแผนกสามารถใช้ภาษามนุษย์ปกติในการถามคำถามเกี่ยวกับข้อมูลได้ ผู้จัดการคนนั้นก็ไม่จำเป็นต้องรอให้นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลหรือผู้เชี่ยวชาญมาคอยหาคำตอบ

สถานการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ เมื่อเราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้วย ML ส่งรายงานหรือแจ้งเตือนไปยังผู้จัดการฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทันที โดยพิจารณาตามผลการสืบค้น หน้าที่ของผู้จัดการ และปัจจัยอื่น ๆ เพราะคงเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าเราสามารถได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ก่อนที่เราจะร้องขอ

6.ธุรกิจต้องเป็นผู้นำด้านบรรษัทภิบาล

เมื่อเกิดความวิตกกังวลด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจึงต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์และบริการมีแหล่งที่มา วิธีการผลิตและการจัดส่งอย่างไร โดยผู้คนจำนวนมากขึ้นต้องการทำธุรกิจกับบริษัทที่มีค่านิยมด้านสังคมและบรรษัทภิบาล (ESG) ที่เข้มแข็ง บริษัทที่ชาญฉลาดจึงต้องพบกับความท้าทายด้วยการต้องลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่การพูดปากเปล่า โดยในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Summit) เมื่อเร็ว ๆ นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความยั่งยืนและขอความร่วมมือทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐบาลในการรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การวิจัยแสดงให้เห็นว่าห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดต้องได้รับการคำนวณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบริษัท เนื่องจากกว่า 90% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทมาจากขั้นตอนในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทนั่นเอง

จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทในภาคธุรกิจต่าง ๆ กล่าวว่าพวกเขาจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางการปฏิบัติงานในการจัดหาทรัพยากร การผลิต และการจัดจำหน่าย ตั้งอยู่บนความยั่งยืนอยู่เสมอ แต่ในความเป็นจริงนั้น หลายครั้งที่เป็นเพียงเรื่องผักชีโรยหน้า โดยรายงานการพัฒนาด้านความยั่งยืน Deloitte 2022 CXO Sustainability Report บริษัทที่ปรึกษาแห่งนี้พบว่าองค์กรมากกว่า 1 ใน 3 ดำเนินการเพียงหนึ่งในห้าส่วนของแผนงานด้านความยั่งยืน

กล่าวโดยสรุป เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางถึงปลายทศวรรษที่ 2020 ผู้ซื้อบริการคลาวด์ต้องการเทคโนโลยีที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถจัดการต้นทุน เพิ่มรายได้ และพวกเขาต้องการทางเลือกในการใช้งานเทคโนโลยีนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาจะให้ความสำคัญกับผู้ให้บริการคลาวด์ที่ช่วยอำนวยความสะดวก ไม่ใช่คอยขัดขวางเมื่อพวกเขาต้องการสะสางภาระงานบนคลาวด์
 

นายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า “ออราเคิล ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันชั้นนำสำหรับวิสาหกิจ ตระหนักถึงเทรนด์การใช้งานมัลติคลาวด์มาโดยตลอด ทำให้เรามุ่งมั่นผสานโซลูชันของเราเข้ากับระบบคลาวด์ของพันธมิตรหลายราย ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Azure เพื่อให้ลูกค้าไมโครซอฟท์สามารถเข้าถึงการทำงานในระบบฐานข้อมูลบน Oracle Cloud Infrastructure โดยตรงภายใต้มาตรฐานเดียวกัน หรือแม้แต่การเปิดให้ใช้งาน Oracle MySQL HeatWave บนแพลตฟอร์ม Amazon Web Services (AWS) เมื่อไม่นานมานี้ ออราเคิลยังคงขยายความร่วมมือไปสู่พันธมิตรไอทีรายอื่น ๆ โดยจะเริ่มจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก เพื่อมอบความสะดวกในการทำงานและการประมวลผลผ่านคลาวด์ที่รวดเร็วแก่ลูกค้าของทุกฝ่าย และแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าออราเคิลคือผู้ให้บริการคลาวด์และโซลูชันแบบครบวงจร ที่มุ่งมั่นมอบความสะดวกสบายและการทำงานข้ามระบบที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง”

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ