เมื่อ : 03 เม.ย. 2566
สวธ.จัดมหกรรมดนตรีไทย ครั้งยิ่งใหญ่ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๒ เมษายน ๒๕๖๖

เยาวชนดนตรีไทย นักดนตรีไทยมืออาชีพ กว่า ๕๐๐ ชีวิต ร่วมบรรเลงดนตรีไทยอย่างสุดฝีมือ ในมหกรรมดนตรีไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๒ เมษายน ๒๕๖๖ ในงานเทศกาลดนตรี Ministry of Culture Music Festival : Summer Hit Songs (MOC MU FES) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖ จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วยการแสดง ๔ รายการใหญ่ ได้แก่ การแสดงดนตรีไทยสากล “๑๐๐ ปี เพลงไทยสากลยอดนิยม” การแสดงดนตรี ลีลาศสุนทราภรณ์  มหกรรมดนตรีไทย และการแสดงดนตรี ๘๔ ปี สุนทราภรณ์ ณ ลานวัฒนธรรมสร้างสุข กระทรวงวัฒนธรรม และที่ Thailand soft power space ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ให้ประชาชนชนได้ชมฟรี 

(วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๖) นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้มอบของที่ระลึกให้แก่ผู้แทนวงร่วมแสดงในงานมหกรรมดนตรีไทย  โดยผู้แทนปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (นายกฤษฎา คงคะจันทร์ ผู้ตรวจราชการวธ.) มอบช่อดอกไม้ให้แก่ นายสมโภชน์ อินทรกำแหง ผู้แทนคณะที่ปรึกษาการจัดงานมหกรรมดนตรีไทย  โดยมีผู้บริหาร นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย  นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมชม

การแสดงมหกรรมดนตรีไทย ที่จัดขึ้นเพื่อ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ๒ เมษายน ๒๕๖๖ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น “วิศิษฏศิลปิน” ผู้เป็นเอตทัคคะในด้านวัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมหลายสาขา โดยเฉพาะด้านดนตรีไทย ประกอบด้วย ๕ รายการแสดง เริ่มด้วย การแสดงมหาดุริยางค์ไทย เวลา ๐๙.๓๐-๑๐.๓๐ น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  ประกอบด้วย ๓ บทเพลง คือ  โหมโรงรัตนโกสินทร์  ไทยดำเนินดอย  และ พระอาทิตย์ชิงดวง บรรเลงดนตรีโดย นักเรียน นักศึกษา เยาวชนดนตรีไทย รวม ๒๔๑ คน (ครบรอบ ๒๔๑ ปี กรุงรัตนโกสินทร์) ต่อด้วย การเสวนา “สุนทรีดนตรีไทย จากรากเหง้า สู่อิทธิพลสมัยใหม่” เวลา ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย) พุทธศักราช ๒๕๕๗  นายอานันท์ นาคคง  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรีไทย  นายอัษฎาวุธ สาคริก ทายาทรุ่นเหลนหลวงประดิษฐไพเราะ ดำเนินการเสวนาโดย  นายนิเวศน์ กันไทยราษฎร์  

จากนั้นเข้าสู่ช่วงการแสดงดนตรีไทย โดยโรงเรียนดนตรีไทย ๑๐๐% ในเวลา ๑๓.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. ณ อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  แสดงโดยโรงเรียนดนตรีไทย ๖ แห่ง กับ ๒ มหาวิทยาลัย ที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนดนตรีไทย จำนวนนักดนตรีรวม ๑๗๐ คน ประกอบด้วย การแสดงของ โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม (วง ACP ดนตรีไทย) บรรเลง เพลงตับบูเซ็นซ็อก  โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บรรเลง ๓ บทเพลงพร้อมขับร้อง คือ เพลงแขกบรเทศ  เพลงแขกต่อยหม้อ และ เพลงนางนาค โรงเรียนพระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง สิงหเสนี) แสดง ๕ บทเพลงพร้อมขับร้อง คือ เพลงถวายพระพรสมเด็จ พระเทพ (ลาวสมเด็จ)  เพลงลาวพุงขาว  เพลงลาวชมดง  เพลงเริงสงกรานต์ และ เพลงรื่นเริงเถลิงศก โรงเรียนสยามสามไตร บรรเลง ๓ บทเพลง คือ ระบำปลา (ขิมหมู่)  แสนคำนึง (ปี่พาทย์เครื่องสาย) และ กราวนอก (ระนาดหมู่) โรงเรียนวัดบางประทุนนอก (ปีพาทย์มอญเด็ก) บรรเลง เพลงพลายชุมพล และ เพลงพระยาน้อยชมตลาด โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ (วงสิงหราช) แสดง ๒ ชุด เพลงชุดสรภัญญะอาศิรวาทราชสดุดีองค์วิศิษฎศิลปิน (สรภัญญะ–เพลงเวสสุกรรม) และ เพลงพรามหณ์ดีดน้ำเต้าเถา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยวงมหิดลาวาทิต แสดงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย บรรเลง เพลงใบ้คลั่ง สามชั้น เดี่ยวจะเข้ เพลงสุดสงวน สามชั้น และ เดี่ยวระนาดเอก เพลงกราวใน ปิดท้ายด้วยการแสดงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยวงมโหรีพิรุณรัตน์ บรรเลงและขับร้อง เพลงหวนคำนึง เถา และเพลงคะนึงนุช เถา

และในเวลา ๑๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. เป็นรายการแสดงที่ถือเป็นไฮไล้ทได้รับความสนใจมีผู้เข้าชมจำนวนมาก คือ การแสดงปีพาทย์ประชันวง ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  โดยวงบ้านบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับ วงทับพรวาทิต กรุงเทพมหานคร  ซึ่งบทเพลงที่วงบ้านบัวหลวง แสดงได้แก่ โหมโรงเชิดใน  เพลงทะเลบ้า เถา  เพลงพญารำพึง (เพลงเดี่ยว) และ เพลงเต่ากินผักบุ้ง ส่วนวงทับพรวาทิต มาแสดงประชัน รวม ๔ บทเพลง ได้แก่ เพลงโหมโรงกัลยาณมิตร เพลงบังใบเถา เดี่ยวรอบวงเพลงอาเฮีย สามชั้น และเพลงเต่ากินผักบุ้ง สองชั้น นั่นเอง  ปิดท้ายมหกรรมดนตรีไทยด้วย การแสดงดนตรีไทยร่วมสมัย เวลา ๑๘.๓๐-๒๐.๓๐ น. ณ ลานหน้าศาลาไทย ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  แสดงโดย วงดนตรีเพชรจรัสแสง กับ วงดนตรีสมทรง  

นอกจากนี้ ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๖ ยังมีรายการแสดงปิดท้ายเทศกาลดนตรีแห่งปี คือ การแสดงดนตรี ๘๔ ปี สุนทราภรณ์ ประกอบด้วย การเสวนา “เส้นทางสู่ ๘๔ ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์” เวลา ๑๐.๓๐ – ๑๒.๓๐ น. ณ หอประชุมเล็ก และ การแสดงคอนเสิร์ต “๘๔ ปี สุนทราภรณ์” เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แฟนคลับไม่ควรพลาด

ทั้งนี้ ภายในงานเทศกาลดนตรียังมีตลาดวัฒนธรรมสร้างสุข ที่ออกร้านโดยหน่วยงานในสังกัดและเครือข่ายวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม มาออกร้านซุ้มอาหารคาวหวานและเครื่องดื่มให้ผู้ที่มาร่วมงานได้อิ่มหนำสำราญ เพลิดเพลินและสุขใจในระหว่างร่วมงานเทศกาลดนตรีในครั้งนี้อย่างถ้วนหน้า และสามารถติดตามข่าวสารทางวัฒนธรรมได้ทาง www.culture.go.th / แฟนเพจเฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และรายการแสดงต่าง ๆ ของศูนย์วัฒนธรรมที่ www.tccbooking.net/activity

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ